การบาดเจ็บทรวงอก.docx
Document Details
Uploaded by ExultantPraseodymium8397
Chaiyaphum Rajabhat University
Tags
Full Transcript
***การบาดเจ็บทรวงอก*** ***อาจารย์ณัฐพล พลเทพ*** ***พย.ม.การพยาบาลผู้ใหญ่*** **การบาดเจ็บทรวงอก** การบาดเจ็บทรวงอก ในปัจจุบันนี้พบได้บ่อยครั้ง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต (Marro, A., Chan, V., Haas, B., & Ditkofsky, N., 2019) มีอัตราการเสียชีวิตส...
***การบาดเจ็บทรวงอก*** ***อาจารย์ณัฐพล พลเทพ*** ***พย.ม.การพยาบาลผู้ใหญ่*** **การบาดเจ็บทรวงอก** การบาดเจ็บทรวงอก ในปัจจุบันนี้พบได้บ่อยครั้ง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุทางถนน และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต (Marro, A., Chan, V., Haas, B., & Ditkofsky, N., 2019) มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 20 -- 25 (Dogrul, B. N., Kiliccalan, I., Asci, E. S., & Peker, S. C., 2020) เพราะในทรวงอกมีอวัยวะที่สำคัญ เช่น ปอด หัวใจ หลอดลม หลอดเลือดใหญ่ หลอดอาหาร ซึ่งการบาดเจ็บของอวัยวะเหล่านั้นอาจจะส่งผลต่อระบบหายใจ ระบบไหลเวียน ซึ่งเป็นระบบที่มีผลต่อการมีชีวิต ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากเหตุดังกล่าว การดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ประสบเหตุ ตลอดจนถึงการดูแลภายในโรงพยาบาลมีความแตกต่างในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้นบทบาทของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะการบาดเจ็บทรวงอกจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อชีวิตของผู้ป่วย **1. สาเหตุการบาดเจ็บทรวงอก** สาเหตุของการบาดเจ็บทรวงอก แบ่งออกเป็น 2 สาเหตุ ดังนี้ 1.1 Penetrating injury 1.2 Blunt injury **1.1 Penetrating injury** หมายถึง การบาดเจ็บที่เกิดจากวัตถุทำอันตราย ทะลุผ่านเข้าไปในทรวงอก อาจจะทะลุหรือไม่ก็ได้ เช่น มีดแทงทะลุทรวงอก สะเก็ดระเบิด กระจก กระสุนปืน เป็นต้น ความรุนแรงของการบาดเจ็บจะขึ้นอยู่กับความลึก ทิศทางและขนาดของบาดแผลที่เกิดขึ้น **1.2 Blunt injury** หมายถึง การบาดเจ็บที่เกิดจากการกระทบกระแทกที่บริเวณทรวงอก โดยส่งผลต่ออวัยวะภายใน อาจจะทำให้เกิดการบอบช้ำหรือเกิดการฉีกขาดของอวัยวะได้ เช่น หน้าอกกระแทกพวงมาลัยหลังเกิดอุบัติเหตุทางถนน การโดนทำร้ายร่างกาย การรุมกระทืบที่ทรวงอก เป็นต้น ลักษณะของการบาดเจ็บเกิดจากการได้รับแรงกระแทกโดยตรง ทำให้บาดเจ็บต่อส่วนที่โดนแรงมากระทบ โดยส่วนใหญ่จะส่งผลต่อผนังทรวงอกโดยตรงทำให้เกิดมีการหักของกระดูกซี่โครงและเกิดการบอบช้ำของเนื้อเยื่อปอดบริเวณที่อยู่ใต้ซี่โครง ถ้าหากแรงที่มากระทบมีความรุนแรงก็อาจทำให้เนื้อเยื่อปอดมีการฉีกขาด หรืออาจเกิดอันตรายจากปลายกระดูกซี่โครงที่หักไปแทงเนื้อเยื่อปอดหรือทำอันตรายต่อเส้นเลือดที่อยู่ใกล้เคียงได้ ![](media/image2.png) นอกจากนี้การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่เกิดจากแรงที่มากระทบเพียงด้านเดียว อาจจะเกิดจากมีแรงเข้ามากระแทกทั้งดันหน้าและด้านหลังของทรวงอก จนทำให้เกิดการหักของกระดูกซี่โครงด้านข้าง *รูปที่ 1 การได้รับแรงกระแทกด้านเดียว รูปที่ 2 การได้รับแรงกระแทกสองด้าน* **2. พยาธิสภาพ** การเกิดการบาดเจ็บของทรวงอกจะมีการเปลี่ยนแปลงของระบบการทำงานของร่างกายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนี้ (สุกษม อัตนวานิช, มปป.) 1. 2. 3. 4. ***2.1 การเปลี่ยนแปลงของเยื่อหุ้มปอด (Pleural cavity)*** ในการหายใจปกติภายในเยื่อหุ้มปอดจะมีความดันเป็นลบ เพื่อช่วยในการขยายตัวของปอดในช่วงการหายใจเข้า ดังนั้นเมื่อเกิดการบาดเจ็บของทรวงอก อาจจะทำให้มีลม หรือของเหลวออกมาภายในเยื่อหุ้มปอด ขัดขวางการขยายตัวของปอด ทำให้ทรวงอกสูญเสียความดันลบ การหายใจไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้ผู้ป่วยมีระดับของออกซิเจนในร่างกายลดลงได้ การเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในช่องเยื้อหุ้มปอด มีดังนี้ 2.1.1 ภาวะที่มีลมรั่วเข้าไปในช่องเยื้อหุ้มปอด (Pneumothorax) 1\) ภาวะที่มีลมรั่วเข้าไปในเยื่อหุ้มปอดแบบธรรมดา (Simple pneumothorax) 2\) ภาวะที่มีลมรั่วเข้าไปในเยื่อหุ้มปอดแบบอันตราย (Tension pneumothorax) 3\) ภาวะที่มีลมรั่วเข้าไปในเยื่อหุ้มปอดที่มีรูติดต่อภายนอก (Open pneumothorax) 2.1.2 ภาวะที่มีของเหลวเข้าไปในช่องเยื่อหุ้มปอด (Hydrothorax) 1\) ภาวะที่มีเลือดเข้าไปในเยื่อหุ้มปอด (Hemothorax) 2\) ภาวะที่มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion) 3\) ภาวะที่มีหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด (Empyema thoracic) 2.1.3 ภาวะที่มีการติดกันของเยื่อหุ้มปอดชั้นนอกและชั้นใน (Pleurodesis) ***ภาวะที่มีลมรั่วเข้าไปในเยื่อหุ้มปอดแบบธรรมดา (Simple pneumothorax)*** หมายถึง ภาวะที่มีลมเข้าไปในเยื่อหุ้มปอด ซึ่งอาจเกิดจากการแตกของเนื้อปอดหรือมีการบาดเจ็บต่อเนื้อปอดโดยตรง ถ้าหากลมที่เข้าไปในช่องเยื่อหุ้มปอด มีปริมาณไม่มากร่างกายก็จะสามารถกำจัดออกไปได้ แต่ถ้าลมที่เข้าไปมีปริมาณมากและร่างกายไม่สามารถกำจัดออกไปได้ ลมที่เข้าไปในช่องเยื่อหุ้มปอดจะไปขัดขวางการขยายตัวของเนื้อปอด ส่งผลทำให้เกิดภาวะปอดแฟบ (Lung collapse) ได้ *รูปที่ 3 ลักษณะของ Tension pneumothorax* (ที่มา: https://www.geeksforgeeks.org/difference-between-pneumothorax-and-tension-pneumothorax/) ***ภาวะที่มีลมรั่วเข้าไปในเยื่อหุ้มปอดแบบอันตราย (Tension pneumothorax)*** ![](media/image4.png) หมายถึง ภาวะที่มีลมเข้าไปในช่องเยื่อหุ้มปอดอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ภายในช่องเยื่อหุ้มปอด มีความดันบวกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีลมในช่องเยื่อหุ้มปอดเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการเบียดอวัยวะที่อยู่ภายในทรวงอกไปด้านตรงข้าม (Mediastinal shift) ลักษณะที่สำคัญที่เกิดขึ้นคือ การเบียดหลอดเลือดดำใหญ่ (Superior Vena Cava) จนทำให้การไหลเวียนของเลือดล้มเหลว และทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ การเบียดหลอดลม ทำให้หลอดลมถูกดันไปด้านตรงข้าม นอกจากนี้ยังไปเบียดพื้นที่ในการบีบตัวของหัวใจ ทำให้หัวใจบีบตัวได้ไม่เต็มที่ ภาวะดังกล่าวสามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว *รูปที่ 4 ลักษณะของ Tension pneumothorax* (ที่มา: https://www.geeksforgeeks.org/difference-between-pneumothorax-and-tension-pneumothorax/) ***ภาวะที่มีลมรั่วเข้าไปในเยื่อหุ้มปอดที่มีรูติดต่อภายนอก (Open pneumothorax)*** หมายถึง ภาวะที่มีรูทะลุระหว่างผนังทรวงอกกับอากาศภายนอก ส่วนใหญ่มักเกิดจาก Penetrating injury เมื่อมีรูทะลุจากภายนอกจะทำให้มีอากาศไหลเข้าไปอยู่ในช่องเยื่อหุ้มปอด ความดันภายในเยื่อหุ้มปอดเพิ่มมากขึ้น ปอดไม่สามารถขยายตัวได้ตามปกติ เกิดภาวะปอดแฟบ โดยความรุนแรงจากขึ้นอยู่กับขนาดของรูรั่ว ยิ่งรูมีขนาดใหญ่ ยิ่งมีความอันตรายเพิ่มมากขึ้น *รูปที่ 5 ลักษณะของ Open pneumothorax* ***ภาวะที่มีเลือดเข้าไปในเยื่อหุ้มปอด (Hemothorax)*** หมายถึง การที่มีเลือดออกภายในช่องเยื่อหุ้มปอด ส่วนใหญ่มักเกิดจากการบาดเจ็บของทรวงอก มีการฉีกขาดของหลอดเลือดภายในทรวงอก ในภาวะดังกล่าวนอกจากจะทำให้เกิดการสูญเสียเลือดออกนอกหลอดเลือดแล้ว ยังมีผลทำให้ปอดไม่สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มที่คล้ายกับภาวะที่มีลมในเยื่อหุ้มปอด ***ภาวะที่มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion)*** ![](media/image6.png) หมายถึง การมีของเหลวเข้าไปในช่องเยื่อหุ้มปอด และทำให้การขยายตัวของปอดลดลง โดยปกติแล้วภายในช่องเยื่อหุ้มปอดจะมีของเหลวที่เรียกว่า Pleural fluid ซึ่งเป็นน้ำที่ใช้หล่อเลี้ยงเยื่อหุ้มปอด โดยน้ำดังกล่าวจะถูกผลิตขึ้นประมาณวันละ 5-6 ลิตร และถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ Thoracic duct pleural fluid ถ้าหากมีการขัดขวางหรือมีการเปลี่ยนแปลงของการผลิตและการดูดซึมกลับก็จะส่งผลทำให้เกิดภาวะมีน้ำในเยื่อหุ้มปอดได้ หรือในภาวะที่มีการอักเสบของปอด Pneumonia ก็สามารถทำให้เกิดภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ที่เรียกว่า Parapneumonic effusion *รูปที่ 6 ลักษณะของ Hemothorax และ Pleural effusion* Dogrul, B. N., Kiliccalan, I., Asci, E. S., & Peker, S. C. (2020). Blunt trauma related chest wall and pulmonary injuries: An overview. *Chinese journal of traumatology*, *23*(03), 125-138. Marro, A., Chan, V., Haas, B., & Ditkofsky, N. (2019). Blunt chest trauma: classification and management. *Emergency radiology*, *26*, 557-566.